วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558

กรอบงานโคบิต COBIT

กรอบงานโคบิต (CoBIT Framework)
ภาพรวมของโคบิต
        โคบิตได้รับการพัฒนาขึ้นในปี 1992 โดยสมาคมการควบคุมและการตรวจสอบระบบสารสนเทศ หรือ The Information Systems Audit and Control Association (ISACA) และ สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศาภิบาล หรือ Information Technology Governance Institute (ITGI) เป็นผู้ดูแลในปัจจุบัน (ซึ่ง ISACA และ ITGI เป็นองค์กรชั้นนำในด้านของการตรวจสอบและการควบคุมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลกที่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา) โคบิตเวอร์ชันแรก (CoBIT 1st edition) ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในปี 1996 จากนั้นได้มีการปรับปรุงเป็นเวอร์ชันที่ 2 (CoBIT 2rdedition) ในปี 1998 โดยในเวอร์ชันที่ 2 มีการเพิ่มเติมแหล่งข้อมูลและมีการทบทวนเนื้อหาในส่วนของวัตถุประสงค์การควบคุมหลักและเนื้อหาอื่นๆ บางส่วน ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นเวอร์ชันที่ 3 (CoBIT 3 edition) ในปี 2000 (ส่วนที่เป็น on-line edition ได้รับการเผยแพร่ในปี 2003) และเวอร์ชันที่ 4 (CoBIT 4.0) ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุดโดยได้มีการเผยแพร่ในเดือนธันวาคมปี 2005 โดยเป็นการปรับปรุงเนื้อหาให้มีความใกล้เคียงกับมาตรฐานสากลต่างๆ เช่น Sarbanes-Oxley Act. เป็นต้น
         สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศาภิบาล (ITGI) จัดตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1998 โดยสมาคมการควบคุมและตรวจสอบระบบสารสนเทศ (ISACA) และสมาคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและนำหลักการด้านการกำกับดูแลที่ดีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้งาน โดยมีการเพิ่มเติมแนวทางในการบริหาร หรือ แนวทางสำหรับผู้บริหาร (Management Guideline) เข้ามาในโคบิตเวอร์ชันที่ 3 รวมถึงการเสริมสร้างและยกระดับการกำกับดูแลที่ดีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
โคบิตนั้นถูกพัฒนาโดยมีพื้นฐานมาจากกรอบวิธีปฏิบัติต่างๆ หลายตัว เช่น Capability Maturity Model (CMM) ของ Software Engineering Institute (SEI), ISO 9000 และ Information Technology Infrastructure Library (ITIL) โดยเดิมทีผู้พัฒนาตั้งใจที่จะสร้างให้โคบิตเป็นเครื่องมือ หรือ แนวทางที่ใช้ในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบการควบคุมภายในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ต่อมามีการนำไปใช้โดยผู้บริหารธุรกิจ และผู้บริหารระบบสารสนเทศมากขึ้น เนื่องจากโคบิตเป็นทั้งแนวคิดและแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้การควบคุมภายในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการอ้างอิงถึงแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกองค์กรสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อมุ่งเน้นในการยกระดับประสิทธิภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นส่วนผลักดันงานขององค์กร (มากกว่าการมุ่งเน้นทางด้านของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเทคโนโลยีสรสนเทศเหมือนมาตรฐาน ISO/IEC 27001) ดังนั้นโคบิตจึงเริ่มเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มของผู้บริหารงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย
        โคบิตเป็นบทสรุปรวมของความรู้หรือข้อมูลต่างๆ ที่องค์กรต้องการสำหรับการนำไปปรับใช้เพื่อให้องค์กรมีการควบคุมภายในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดี และเพื่อพัฒนาองค์กรให้เข้าสู่การเป็นองค์กรที่มี “ธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ” หรือ IT Governance กล่าวคือ สามารถบริหารจัดการระบบสารสนเทศขององค์กรให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่ากับการลงทุน และมีการบริหารจัดการที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ โดยโคบิตจะรวบรวมตัววัด (Measures) เครื่องบ่งชี้ (Indicators) ขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Processes) และ แนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีโครงสร้าง สามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้โดยง่ายอีกทั้งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ผู้ที่นำโคบิตไปใช้ (ได้แก่ ผู้บริหารธุรกิจ ผู้บริหารระบบสารสนเทศ และผู้ตรวจสอบ) สามารถนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้งานภายในองค์กร และช่วยให้การลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศประสบความสำเร็จอย่างตรงตามความต้องการทางด้านธุรกิจ เนื่องจากการนำโคบิตเข้ามาใช้จะช่วยให้ผู้ที่ปฏิบัติงานต่างๆ มีความเข้าใจในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ตนเองเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของการยกระดับของการควบคุมด้านความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับการป้องกันสินทรัพย์ต่างๆ ขององค์กร
        แนวทางในการบริหารจัดการของโคบิตเขียนขึ้นเพื่อให้สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง และเพื่อให้สามารถตอบคำถามต่างๆ ของผู้บริหารได้ เช่น
·         องค์กรสามารถเติบโตได้ถึงขั้นไหน (ในด้านของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์กร)
·         การลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศคุ้มค่ากับประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับหรือไม่
·         ควรใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดี
·         อะไรเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
·         ความเสี่ยงที่จะทำให้องค์กรไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้มีอะไรบ้าง จะมีวิธีการตรวจสอบและการควบคุมอย่างไร เพื่อลดโอกาสเกิดของความเสี่ยงดังกล่าวให้น้อยลง
        เราสามารถนำมาตรฐาน หรือ แนวทางปฏิบัติอื่นๆ ที่มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะเน้นที่การควบคุมเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง มาประยุกต์ใช้ร่วมกับโคบิตได้ เช่น กลุ่มมาตรฐานของ ISO/IEC 27000 (ISO/IEC 27000 series) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เน้นในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ มาตรฐาน ISO/IEC 9001:2000 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เน้นในเรื่องของการจัดการความต้องการทางด้านคุณภาพของระบบ (Quality Management Systems Requirement) หรือ มาตรฐานของ Information Technology Infrastructure Library (ITIL) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เน้นในเรื่องของการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีคุณภาพ หรือ มาตรฐาน Capability Maturity Model Integration (CMMI) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เน้นในเรื่องของการพัฒนาและผลิตซอร์ฟแวร์ที่มีคุณภาพ รวมไปถึงมาตรฐาน Projects in Controlled Environments 2 (PRINCE2) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เน้นในเรื่องของการบริหารจัดการโครงการที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น เนื่องจากโคบิตเป็นกรอบการปฏิบัติที่บอกให้ผู้ปฏิบัติทราบว่าต้องการอะไรบ้าง (what to do) แต่ไม่มีรายละเอียดในแง่ของวิธีการปฏิบัติที่จะนำไปสู่จุดนั้น (how to do) ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงควรนำมาตรฐาน หรือแนวทางปฏิบัติอื่นๆ เข้ามาช่วยเสริมในส่วนของรายละเอียดที่เจาะลึกลงไปในเรื่องที่ต้องการได้
โครงสร้างของโคบิตถูกออกแบบให้อยู่บนพื้นฐานของกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process) ซึ่งแบ่งเป็น 4 กระบวนการหลัก (Domains) ได้แก่
·         การวางแผนและการจัดองค์กร (Plan and Organize : PO)
·         การจัดหาและนำระบบออกใช้งานจริง (Acquire and Implement : AI)
·         การส่งมอบและการสนับสนุน (Delivery and Support : DS)
·         การติดตามและประเมินผล (Monitor and Evaluate : ME)
        ในแต่ละกระบวนการหลักข้างต้น โคบิตยังได้แสดงถึงวัตถุประสงค์การควบคุมหลัก (High-Level Control Objectives) รวมทั้งหมด 34 หัวข้อ และในแต่ละหัวข้อจะประกอบไปด้วยวัตถุประสงค์การควบคุมย่อย (Detailed Control Objectives) รวมทั้งหมดถึง 318 หัวข้อย่อย พร้อมทั้งยังมีแนวทางการตรวจสอบ (Audit Guideline) สำหรับแต่ละหัวข้อการควบคุมอีกด้วย (ซึ่งรายละเอียดจะกล่าวในหัวข้อถัดไป) นอกจากนี้โคบิตได้แสดงถึงความสัมพันธ์ต่อปัจจัยหลัก 2 ตัว ในทุกๆ หัวข้อของวัตถุประสงค์การควบคุม ได้แก่
·         คุณภาพของสารสนเทศ (Information Criteria)
·         ทรัพยากรด้านเทคโนโลยี (IT Resources)
คุณภาพของสารสนเทศ 7 ประการ
·  ประสิทธิภาพ (Effectiveness) หมายถึง มีการจัดการกับข้อมูลที่ใช้หรือเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจ โดยเฉพาะการส่งมอบสารสนเทศต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้ได้อย่างถูกต้อง ทันเวลา และสามารถใช้ประโยชน์ได้
·  ประสิทธิผล (Efficiency) หมายถึง มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเต็มที่ (คือให้ผลตอบแทนสูงสุดในขณะที่ใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด) เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่ผู้ใช้ต้องการ
·  การรักษาความลับ (Confidentiality) หมายถึง มีการป้องกันการเปิดเผยข้อมูลที่มีความสำคัญต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่ไม่ได้รับอนุญาต
·  ความสมบูรณ์ของข้อมูล (Integrity) หมายถึง ความถูกต้องตรงกันและความครบถ้วนสมบูรณ์ของสารสนเทศที่มีอยู่ในองค์กร
·  ความพร้อมใช้งานของข้อมูล (Availability) หมายถึง การที่สามารถเรียกใช้ข้อมูลสารสนเทศได้ตลอดเวลาเมื่อผู้ใช้ต้องการ รวมถึงการป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับทรัพยากรที่จำเป็นต่างๆ และการรักษาระดับความสามารถในการทำงานของทรัพยากรเหล่านั้น ห้ามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา
·  การปฏิบัติตามระเบียบ (Compliance) หมายถึง การที่องค์กรปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ ข้อตกลง หรือกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจที่มีขึ้นเพื่อบังคับใช้ทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกองค์กร
·   ความน่าเชื่อถือของข้อมูล (Reliability) หมายถึง ความสามรถในการหาข้อมูลที่เหมาะสมและเชื่อถือได้ให้แก่ผู้บริหารเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจและให้สามารถจัดทำรายงานทางการเงินหรือรายงานอื่นๆ ที่จำเป็น
ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 4 ประเภท
          · ระบบงานประยุกต์ (Application Systems) ได้แก่ ขั้นตอนและกระบวนการที่ใช้ในการปฏิบัติงานทั้งแบบที่ปฏิบัติเองด้วยมือและแบบที่ทำด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
· สารสนเทศ (Information) ได้แก่ ข้อมูลหรือสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปภาพ ข้อมูลเสียง เป็นต้น โดยสามารถเป็นได้ทั้งข้อมูลที่มีโครงสร้างและที่ไม่มีโครงสร้าง ที่องค์กรนำมาใช้ในการปฏิบัติงาน
· โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร ที่ใช้ในการปฏิบัติงานต่างๆ ภายในองค์กร ซึ่งรวมตั้ง hardware, software, ระบบปฏิบัติการ ระบบบริหารฐานข้อมูล ระบบเครือข่าย และยังรวมไปถึงทรัพยากรต่างๆ ที่ใช้ในสนับสนุนการปฏิบัติงานขององค์กร เช่น อาคาร สถานที่ และสาธารณูปโภคต่างๆ 
· บุคลากร (People) ได้แก่ บุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในการบริหารและการปฏิบัติงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าระบบสารสนเทศจะได้รับการดูแลที่ดีจากบุคลากรที่มีความสามารถ
ภาพรวมของธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
        โคบิตถือเป็นกรอบวิธีปฏิบัติตัวหนึ่งที่เน้นให้องค์กรเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดี ดังนั้นองค์กรที่ต้องการประสบความสำเร็จในการเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีควรที่จะนำโคบิตไปปรับใช้ในการบริหารงานขององค์กร ซึ่งในตัวของโคบิตเองก็ได้มีเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวพันธ์กับเรื่องของธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย ด้วยเหตุนี้จึงอยากจะให้ผู้ที่นำไปใช้ได้เข้าใจในเรื่องของธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศก่อน
        ธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศคือ การนำกรอบวิธีการปฏิบัติและวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุด จากมาตรฐานต่างๆ มาปรับใช้ในองค์กร เพื่อช่วยในการตรวจสอบติดตาม และปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความสำคัญต่อองค์กร เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจและเป็นการลดความเสี่ยงด้านธุรกิจที่องค์กรต้องเผชิญไปด้วยในตัว และให้สามารถแน่ใจได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร ได้สนับสนุนวัตถุประสงค์ของธุรกิจ เพื่อที่จะทำให้องค์กรสามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ จากข้อมูลของธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
        ธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้องค์กรสามารถแน่ใจได้ว่า เทคโนโลยีที่องค์กรนำมาใช้จะสามารถสนับสนุนเป้าหมายทางธุรกิจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดทางด้านธุรกิจให้กับการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และช่วยให้องค์กรมีวิธีที่ใช้ในการจัดการกับความเสี่ยงอย่างเหมาะสม การที่มีความเข้าใจที่ดีในเรื่องของ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กลยุทธ์ทางด้านธุรกิจขององค์กร โครงสร้างในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร ความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญต่อองค์กร และแนวโน้มในการใช้งานของเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเป็นส่วนสำคัญของการประสบความสำเร็จในการนำธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์กร ซึ่งหน้าที่ในการดูแลและรับผิดชอบในเรื่องของธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ถือเป็นอีกหน้าที่หลักของผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการผู้จัดการ (Broad of Directors) ในการผลักดันให้องค์กรก้าวเข้าสู่หลักธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดี
โคบิตกับธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
        ในเนื้อหาของโคบิตได้มีหลายหัวข้อที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของธรรมาภิลาบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อต้องการที่จะให้องค์กรที่นำโคบิตไปใช้ได้เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่ดี โดยเรื่องที่โคบิตกล่าวถึงเกี่ยวกับธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีดังนี้
  • วัตถุประสงค์ของโคบิตในเรื่องของธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • IT Governance Focus Areas
วัตถุประสงค์ของโคบิตในเรื่องของธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
         ซึ่งโคบิตสนับสนุนในเรื่องของธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยมีการจัดเตรียมกรอบวิธีปฏิบัติต่างๆ เพื่อต้องการให้แน่ใจว่า :
-           เทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธุรกิจขององค์กร
-          เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถที่จะสนับสนุนความต้องทางด้านธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
-          ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศถูกใช้อย่างเหมาะสม
-          สามารถจัดการความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเหมาะสม


IT Governance Focus Areas
        โคบิตนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับการจัดการในส่วนของธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลัก ซึ่งมีเนื้อหาที่ครอบคลุมในเรื่องของธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหมด ดังข้อมูลด้านล่างนี้
- การจัดวางกลยุทธ์ (IT strategic alignment) มีเนื้อหาในการเน้นที่เรื่องของการเชื่อมโยงให้เกิดความสอดคล้องกันระหว่างแผนทางธุรกิจกับแผนทางเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจะครอบคลุมไปถึงการกำหนดและการวางแผน การดูแลรักษา และการตรวจสอบความถูกต้องของเทคโนโลยีสารสนเทศ และรวมไปถึงการทำให้กระบวนการปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ดำเนินไปในทิศทางเดี่ยวกับกระบานการปฏิบัติงานขององค์กร
การนำเสนอคุณค่า (Value delivery) มีเนื้อหาในการเน้นที่เรื่องของการนำเสนอคุณค่าตลอดจนวงจรของการนำส่ง หลักการพื้นฐานของการสร้างคุณค่าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศคือ การส่งมอบให้ตรงเวลา อยู่ในงบประมาณที่กำหนด ผลประโยชน์ที่ได้รับจะต้องสามารถระบุได้และเป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้ เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถสร้างประโยชน์ได้ตามที่กำหนดไว้ในกลยุทธ์ขององค์กร
- การจัดการกับทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT resources management) มีเนื้อหาในการเน้นที่เรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งครอบคลุมในส่วนของการลงทุนอย่างไรเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด และเรื่องการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความสำคัญต่อองค์กร (ได้แก่ ระบบงานประยุกต์ สารสนเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากร) อย่างเหมาะสม ซึ่งประเด็นของเรื่องนี้จะอยู่ที่การนำความรู้และโครงสร้างพื้นฐานที่องค์กรมีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
- การจัดการความเสี่ยง (Risk management) มีเนื้อหาในการเน้นที่เรื่องของการจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องของความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร และสามารถตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีความสำคัญต่อองค์กร เพื่อเป็นการปลูกฝังในเรื่องของหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ในองค์กร
การวัดประสิทธิภาพ (Performance measurement) มีเนื้อหาในการเน้นที่เรื่องของกลยุทธ์และวิธีที่ใช้ในการตรวจสอบและติดตามในด้านของ การทำให้เป็นผล (implementation) ความครบถ้วนสมบูรณ์ของโครงการ (project completion) การใช้งานทรัพยากร (resource usage) ประสิทธิภาพของกระบวนการ (process performance) และ การส่งมอบการให้บริการ (service delivery) ซึ่งการวัดประสิทธิภาพถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากที่สุดในเรื่องของธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะจะทำให้องค์กรทราบได้ว่าหลักการที่องค์กรได้นำมาใช้นั้นประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และควรที่จะปรับปรุงไปในทิศทางไหน 
ประโยชน์ของการนำโคบิตมาใช้
การนำโคบิตมาประยุกต์ใช้ในองค์กรสามารถสร้างประโยชน์หลายประการให้แก่องค์กร ดังตัวอย่าง
-           ทำให้ธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน โดยให้ภาคธุรกิจเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบาย
-          เกิดการแบ่งปันในส่วนของความรู้และความเข้าใจให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน โดยเป็นการใช้ภาษาเดียวกันทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
-          ทำให้เกิดความเข้าใจมุมมองหรือภาพรวมในเรื่องของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการจัดการด้านธุรกิจขององค์กรอย่างไร
-          ทำให้เกิดความกระจ่างในเรื่องของบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ และความเป็นเจ้าของ ในการปฏิบัติงานของพนักงานในองค์กร
-          เพื่อให้เกิดความไว้วางใจและการยอมรับกันอย่างแพร่หลายจากองค์กรหรือบริษัทภายนอกที่เกี่ยวข้องและผู้วางกฎระเบียบ (regulator) ต่างๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น